Posted in Master of Ceremony (MC)

การเป็นพิธีกรมากกว่า 1 ภาษา

Marielle Price.png
การเป็นพิธีกรมากกว่า 1 ภาษานั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก หากปกติเราสามารถสื่อสารภาษาที่ 2 ที่ 3 หรือมากกว่านี้ได้อยู่แล้ว การเป็นพิธีกรที่ใช้ภาษามากกว่า 1 ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

แต่หลายคน แม้จะสามารถสื่อสารอีกภาษาใดภาษาหนึ่งได้ แต่หากคลังคำ หรือลักษณะประโยคที่ใช้อยู่ ไม่ได้มีไว้เพื่อการเป็นพิธีกร ก็อาจจะยากสักนิดสำหรับการเริ่มต้น แต่ก็ถือว่าพอมีต้นทุนเดิมอยู่บ้าง นั่นก็คือทักษะการสื่อสารภาษานั้น ๆ มาก่อน

อย่างผมเอง ผมสามารถสื่อสารภาษามลายูได้ตั้งแต่เกิด ซึ่งภาษามลายูนี้เป็นภาษาแรก หรือภาษาแม่ของผมเลย แต่แม้ว่าผมจะสามารถสื่อสารภาษามลายูได้ตั้งแต่เกิด แต่คำ หรือประโยคที่ผมมีนั้น ยังไม่ใช่กลุ่มคำ หรือกลุ่มประโยคที่จะสามารถนำมาใช้สำหรับการพิธีกรได้

เหมือนคนทั่ว ๆ ไป ที่สามารถสื่อสารภาษาไทย (หรือภาษาใด ๆ ) ได้ แต่อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นพิธีกรได้ เพราะบางครั้งที่ผมเองลองให้น้อง ๆ ที่รู้จัก ให้ลองขึ้นเป็นพิธีกรในภาษาที่ตนใช้อยู่ แต่ก็หลายครั้งที่น้อง ๆ กลุ่มนี้ปฏิเสธ บอกไม่ถนัดบ้าง เกร็งบ้าง กลัวผิดบ้าง ไม่รู้จะพูดอะไรบ้าง

ซึ่งเรื่องนี้ ผมเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะผมเองก็เคยได้รับให้เป็นพิธีกรในภาษามลายู ซึ่งตอนนั้นผมเองยังไม่ค่อยถนัดนัก ซ้ำร้าย ต้องพูดภาษามลายูแบบไม่ทันตั้งตัว โดยบางครั้งพิธีกรที่คู่ด้วยอยู่ก็ให้พูดเป็นภาษามลายูเลย ซึ่งประโยคที่จะใช้เป็นพิธีกรในภาษามลายูตอนนั้น ยังไม่มี คือรู้ว่าจะต้องพูดอะไร แต่.. จะให้พูดอะไรหล่ะ (ฮ่า ๆ)

ขอยกตัวอย่างเป็นในส่วนของภาษาไทยก็แล้วกันนะครับ เช่น ผมต้องการที่จะพูดถึงความสวยงามและอลังการของงาน ถึงความร่วมมือของคนทำงาน แต่การพูดถึงงาน และคนทำงาน หากผมเองไม่เคยได้พูด อย่างน้อยผมก็ควรที่จะต้องเคยได้ยินคำ หรือประโยคลักษณะนี้มาบ้าง แต่ทีนี้ ไม่เคยเลยไงครับ เลยได้แต่ยืนยิ้ม และแอบเคืองพิธีกรคู่เล็กน้อย เพราะเล่นแบบไม่ทันให้เราได้ตั้งตัว ซึ่งจริง ๆ แล้ว เขาก็ไม่ได้ตั้งใจนะครับ เพราะเขาเป็นว่าเราพูดมลายูได้ และเห็นเป็นพิธีกรภาษาไทยได้ดีเด่ เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะยาก แต่หารู้ไม่ครับ ผมงี้ยืนนิ่งแบบว่าไม่รู้จะทำยังไงเลยครับ

คงคล้าย ๆ ที่ให้หลาย ๆ คน อยู่ ๆ ก็ให้ขึ้นเป็นพิธีกรเลย ก็คงจะงง ๆ อึ้ง ๆ และก็คงจะต้องไปยืนนิ่ง ๆ แบบไม่รู้จะพูดอะไร ไม่รู้จะจับต้นชนปลายยังไง ใช่มั้ยหล่ะครับ

วิธีฝึก

ทีนี้ หลังจากที่หลาย ๆ ครั้งเข้าที่ผมจะต้องรับหน้าที่พูดภาษามลายู ด้วยพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย มีพี่น้องที่ใช้ภาษามลายูในการสื่อสารในชีวิตประจำวันเป็นหลัก การใช้ภาษามลายูในการเป็นพิธีกร ก็ดูจะต้องเป็นสิ่งที่พิธีกรอย่างผมต้องทำให้ได้ เพราะผมก็ใช้ภาษามลายูมาตั้งแต่เกิด

และเทคนิคที่กำลังจะแนะนำนี้ มีทั้งการฝึกสำหรับการเป็นพิธีกรภาษาที่ตัวเองสื่อสารเป็นอยู่แล้ว แต่ยังเป็นพิธีกรภาษานั้นไม่ได้ และเทคนิคที่จะแนะนำให้สามารถนำไปใช้ฝึกอีกภาษาหนึ่ง ที่ตัวเองอาจจะยังสื่อสารได้ไม่ถนัดนัก แต่สามารถเป็นพิธีกรได้เช่นกัน

เริ่มที่ภาษาที่เราสื่อสารได้ตั้งแต่เกิดก่อนนะครับ หากท่านใดที่เกิดในพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยกลางมาตรฐานเป็นหลัก หรือใช้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แสดงว่าท่านจะมีอีกภาษาหนึ่งที่ใช้อยู่เป็นประจำ หรือที่เรียกว่าภาษาถิ่น เช่น ภาษาถิ่นใต้ ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาอีสาน ภาษาของแต่ละชนเผ่า และอื่น ๆ อย่างบางจังหวัด ก็จะมีสำเนียงเป็นของตัวเอง บางจังหวัดยังมีมากกว่า 1 สำเนียงเลย

คำเรียกสิ่งของในแต่ละพื้นที่ก็เช่นกัน แต่ละที่จะเรียกอย่างเดียวกันแต่ใช้คนละคำกัน เช่น มะละกอ แต่ละที่ก็จะเรียกไม่เหมือนกันในภาษาถิ่น อันนี้ถ้าเราสามารถรู้ได้ว่าท้องถิ่นที่เราอยู่ หรือท้องถิ่นที่เราต้องไปทำงานนั้นแต่ละอย่างเรียกอะไร ก็จะช่วยได้มาก อย่างในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คำที่ใช้เรียก กะละมัง รวม ๆ แล้ว มีใช้เกือบ 10 คำ น่าสนใจมากเลยใช่มั้ยครับ

การฝึกการเป็นพิธีกรในภาษาถิ่น ก็เหมือนกับการฝึกการเป็นพิธีกรในภาษาอื่น ๆ เลยครับ เบื้องต้นเลยคือเราควรอย่างยิ่งที่จะต้องเขียนสิ่งที่เราต้องการจะพูด หรือให้เรียกง่าย ๆ คือเขียนสคริปต์ หรือบทพูด ว่าจะเริ่มทักทายผู้ชม หรือผู้เข้าร่วมงาน เราจะเริ่มยังไง หรือถ้าเชิญท่านแขกผู้ใหญ่ขึ้นพูด จะเชิญยังไง ขอบคุณยังไง ช่วงกิจกรรมต่าง ๆ จะคั่นยังไง จนกระทั่งกล่าวปิดยังไง เขียนสคริปต์เลยครับผม เขียนเลย เขียน ๆ ๆ แล้วก็เอามาฝึก ๆ ๆ

แล้วจะเอาจากไหนมาเขียน อันนี้ง่ายมากครับผม เพราะโดยหลัก ๆ ของการทำหน้าที่เป็นพิธีกรนั้น คือการทำให้งานแต่ละงานผ่านไปด้วยความเรียบร้อย เท่านั้นเองครับ ทีนี้ แรก ๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปได้โดยง่าย ก็ต้องทำความรู้จักกันกับผู้เข้าร่วมงานก่อน คำพูดที่ต้องเตรียมก็จะมีลักษณะของการทักทาย ทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคย (ซึ่งผมจะอธิบายเพิ่มเติมอย่างละเอียดในหัวข้อถัดไป) โดยปกติแล้วเราทักทาย และสร้างความคุ้นเคยกับคนอย่างไร ก็ใช้ในทำนองลักษณะนั้นเลยครับ ส่วนระดับความเป็นทางการ ก็ดูผู้ชมเป็นหลัก ถ้าเราสนิทมาก ก็สามารถที่เล่นได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ควรมากเกินไป และถ้าผู้ชมเป็นกลุ่มคนที่เรายังไม่ค่อยรู้จักนัก ก็ควรใช้คำพูดที่มีลักษณะเป็นทางการเล็กน้อย

แล้วคำเหล่านี้จะเอามาจากไหน จริงแล้วสามารถทำได้หลายแบบนะครับ สามารถใช้วิธีโดยการนำคำพูดจากภาษากลางมาใช้วางเป็นโครงร่างก่อน แล้วก็เขียนบทพูดเป็นภาษาถิ่นที่เราถนัด แล้วถ้าไม่รู้ว่าคำในภาษาถิ่นนี้ ต้องใช้คำไหน ท่านสามารถถามจากผู้รู้ เช่น พิธีกรรุ่นพี่ หรืออาจจะหาจากอินเตอร์เน็ตเลยก็ได้นะครับ เพราะผมเองก็ใช้วิธีนี้อยู่

พอฝึกแบบนี้ไปสักพัก ท่านจะสามารถอ่านบทจากอีกภาษาหนึ่ง และเป็นพิธีกรในอีกภาษาหนึ่งได้เลย ส่วนใครที่ยังไม่ได้ขนาดนี้ ไม่ต้องห่วงครับ ฝึกมาก ได้มาก ฝึกเร็ว ได้เร็วนะครับ เพียงเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการเขียนสคริปต์ก่อนเลย

ส่วนการฝึกในภาษาที่เรายังไม่คล่องมากนั้น เช่น ภาษาอังกฤษ วิธีการฝึกของผม ก็จะดูตัวอย่างจากอินเตอร์เน็ตครับ ซึ่งผมว่าหาได้ง่ายมาก ๆ และเราสามารถเลือกลักษณะงานที่เราอยากเป็นได้ด้วย เช่น งานแข่งขันกีฬา ผมก็จะไปดูตัวอย่างจากการแข่งขันโอลิมปิก (แหะ ๆ) เพื่อสร้างความเป็นทางการหน่ะครับ และถ้ายิ่งต้องใช้มากกว่า 1 ภาษา เช่น ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ผมก็จะไปดูงานที่มีทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ อย่างเช่นการแข่งขันระดับอาเซียน หรือระดับเอเชีย ที่มีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ผมก็จะมีคำจากทั้ง 2 ภาษาเลย

และถ้าบางครั้งผมอยากได้คำที่เป็นภาษามลายู ผมก็จะไปดูจากการแข่งขันของประเทศที่ใช้ภาษามลายูเป็นหลัก เช่น ประเทศมาเลเซีย หรือประเทศบรูไน แล้วก็จดออกมา จดเลยนะครับ ไม่ต้องแคร์ ไม่ต้องรอ ไม่ต้องคิดมาก จดออกมากก่อน ว่าแต่ละช่วงเขาพูดว่ายังไง พูดอะไร ใช้คำอะไรบ้าง ลำดับยังไง แล้วก็เอามาปรับมาลองใช้ดู เพราะการแข่งขันในแต่ละครั้งลำดับอาจจะไม่เหมือนกัน และขั้นตอนก็ไม่เหมือนกัน บางขั้นตอนอาจต้องตัด บางขั้นตอนอาจต้องเพิ่ม ก็แล้วแต่งานไป แต่เท่าที่ผมเป็นพิธีกรมา ขึ้นตอนโดยส่วนใหญ่แทบไม่ต่างครับ

จากการดูงานที่เป็นงานระดับนานาชาติ และมีการใช้ภาษามากกว่า 1 ภาษาแล้วนั้น จะทำให้ผมได้มากกว่า 1 ภาษาครั้ง อย่างงานของประเทศมาเลเซีย ผมก็จะได้ทั้งภาษามลายูที่ใช้แบบเป็นทางการ และภาษาอังกฤษในรูปแบบทางการในสไตล์ของมาเลเซียไปด้วย แบบนี้ ทำครั้งเดียว ได้มาพร้อมกันถึง 2 อย่างเลยนะครับ

ตัวแปรสำคัญของลำดับของงาน

ไหน ๆ ก็พูดถึงเรื่องลำดับขั้นตอนของงานแล้ว ขอพูดถึงเรื่องนี้ไปอีกนิดเลยละกันนะครับ ตัวแปรสำคัญของงานต่าง ๆ ยิ่งงานที่เป็นทางการแล้ว คนที่จะทำให้ลำดับไหนมาก่อน หรือมาหลัง คือประธานในพิธีครับ ถ้าประธานมาเร็ว งานก็จะเริ่มได้เร็ว แต่ถ้าประธานมาช้า ซึ่งหลายครั้งที่ท่านประธานในพิธีเปิดของงานมักจะเป็นผู้ที่มีภารกิจอื่น ๆ อีกมาก หรืออาจจะมีต้องไปเป็นประธานงานให้อีกงานก่อนหน้าที่จะมางานของเรา อันนี้ก็จะทำให้งานเราล่าช้ากว่ากำหนดไป แต่พิธีกรก็จะต้องดำเนินการได้อย่างไม่มีข้อบกพร่องนะครับ

หมายความว่า ประธานมาตอนไหนไม่เกี่ยว แต่เกี่ยวกับเราที่ว่า งานราบรื่นหรือเปล่า นั่นคือหน้าที่ของพิธีกรครับ

ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีผลต่อการเริ่มงาน นั่นก็คือ ผู้ชม หรือผู้เข้าร่วมครับ เพราะหลาย ๆ งานเป็นงานเปิด ใครมาก็ได้ ไม่มาก็ได้ มาตอนไหนก็ได้ ถ้าเป็นงานลักษณะนี้ หลาย ๆ ครั้งที่ผู้จัดจะต้องรอผู้เข้าร่วมงาน หรือผู้ชมให้มีจำนวนที่ไม่น้อยจนเกินไป หรือบางคนก็อาจจะใช้คำว่า ไม่น่าเกลียดเกิน ก็คือมีจำนวนคนเข้าร่วมสักหน่อย ก็เปิดได้ละ พอผู้จัดบอกเริ่มได้ พิธีกรก็ไม่ต้องรอครับ เริ่มเลยครับผม

และบ่อยครั้งที่พิธีกรจะต้องเริ่มดำเนินรายการตั้งแต่คนยังไม่ค่อยมี นั่นก็คือ ขึ้นเวที จับไมค์ แล้วก็ทำหน้าที่เรียกแขกครับ เชิญคนที่อยู่ในละแวก หรือในบริเวณนั้น เข้ามาสู่บริเวณหน้าเวที หรือหน้าพื้นที่จัดงาน อันนี้พิธีกรก็ต้องทำนะครับ ช่วงนี้หล่ะครับ เป็นช่วงที่ยังไม่ค่อยต้องการความเป็นทางการมากนัก เราสามารถใช้ภาษามากกว่า 1 ได้ หากผู้ชมสามารถเข้าใจมากกว่า 1 ภาษาได้ อันนี้ผมอยากแนะนำให้ใช้มากกว่า 1 ภาษาไปเลยนะครับผม

และอีกคนที่ลืมไม่ได้ ที่จะทำให้งานได้เริ่มหรือไม่ นั่นก็คือตัวพิธีกรเอง ครับผม ไม่ผิดครับ ก็คือพิธีกร เพราะบางงาน พิธีกรมาช้ากว่าเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง เพราะพิธีกรควรไปถึงก่อนเวลาเพื่อที่จะได้เตรียมตัว เตรียมงาน เตรียมเนื้อหา เตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้านก่อนงานเริ่มแต่หากเป็นกรณีฉุกเฉินที่พิธีกรจะต้องไปถึงช้าโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ต้องรีบทำอย่างเร็วที่สุดคือ แจ้งทางผู้จัดเพื่อให้ช่วยหาทางออกสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดนี้

ส่วนการไปถึงงานก่อนเวลาเล็กน้อยนั้น ส่วนตัวผมอยากให้ถึงก่อนสัก 30 นาทีก่อนงาน หรือครึ่งชั่วโมง เพราะบางครั้งงานอาจต้องเริ่มก่อนเวลาเล็กน้อย เช่น แขกคนสำคัญของงานต้องรีบไปงานอื่นต่อ (ซึ่งบางครั้งท่านก็เพิ่งทราบ) ดังนั้น งานก็จะต้องเริ่มก่อนเวลาเล็กน้อย การที่เราไปถึงก่อนงานพอสมควร จะทำให้งานสามารถดำเนินการได้อย่างไม่มีปัญหา

การเขียนสคริปต์

ในส่วนของสคริปต์ หากเราเป็นพิธีกรที่ต้องใช้มากกว่า 1 ภาษา สคริปต์ควรมีทั้ง 2 ภาษาในสคริปต์เดียวกัน ไม่ต้องแยก แต่ให้เขียนลำดับต่อกันเลย เพราะเราเองจะได้ไม่สับสนเวลาขึ้นเวทีจริง งานจะได้ราบรื่นตามลำดับตามที่เขียนในสคริปต์

วิธีดำเนินรายการ

งานส่วนใหญ่ที่ต้องการพิธีกรที่ใช้มากกว่า 1 ภาษานั้น มักจะมีผู้ชมที่สามารถเข้าใจภาษาใดภาษาหนึ่ง ภาษาเดียว มากกว่าคนที่จะเข้าใจมากกว่า 1 ภาษา เพราะถ้าผู้ชมสามารถเข้าใจมากกว่า 1 ภาษาอยู่แล้ว ก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยพิธีกรที่ต้องใช้มากกว่า 1 ภาษา

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาต้องใช้จริง ควรที่จะใช้ทั้ง 2 ภาษาสลับกันไป แต่อาจจะเลือกภาษาหลักสัก 1 ภาษา ซึ่งเป็นภาษาที่คนส่วนใหญ่ของงานสามารถเข้าใจได้ ส่วนอีกภาษาหนึ่ง  ไม่ต้องแปลทุกคำ ทุกประโยคที่พูดจากภาษาหลัก เพราะจะทำให้เสียเวลา ทำเพียงแค่สรุปเนื้อความสำคัญจากบทพูดของภาษาหลัก เอาแค่ใจความสำคัญก็พอแล้วนะครับ เอากระชับ แต่เอารู้เรื่อง ชัดเจน และเพียงพอ ก็พอแล้วครับ

บางช่วงอาจใช้ 2 ภาษา และบางช่วงก็สามารถใช้เพียงภาษาเดียวก็ได้ เช่น เชิญการแสดงที่ไม่ได้ต้องการการให้ข้อมูลที่จำเป็นมาก ก็สามารถใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งได้เลย ซึ่งผู้ชมจำทราบได้เองจากสิ่งที่กำลังจะปรากฏบนเวทีว่าเป็นการแสดงอะไร อย่างไร

ส่วนตอนขึ้นต้น เราจะเลือกภาษาไหนขึ้นก่อนหลังนั้น จริง ๆ แล้วก็ไม่มีสูตรตายตัวนะครับ เราสามารถพิจารณาจากหน้างานจริงได้เลย ว่าควรจะใช้ภาษาอะไรก่อน เช่น ถ้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย ก็อาจจะทักทายเป็นภาษาไทยก่อน แล้วค่อยมีภาษาอังกฤษแทรกมา และถ้าผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชน คนในท้องถิ่น ซึ่งเข้าใจภาษาถิ่นเป็นอย่างดี เราก็สามารถใช้ภาษาถิ่นทักทายก่อน แล้วค่อยใช้ภาษาไทยกลางเป็นลำดับถัดไป

หรือหากท่านประธานของงาน เดิมท่านเป็นคนท้องถิ่นอื่น หรือถนัดกับอีกภาษาหนึ่งมากกว่าภาษาที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปของพื้นที่ของงาน ก็สามารถใช้ภาษาเดียวกันกับที่ท่านประธานใช้อยู่แทรกบ้างเป็นระยะได้ หรืออาจจะมีเฉพาะช่วงที่กล่าวทักทายท่านประธานก็ได้ หรือไม่มีก็ได้ครับ ดูความเหมาะสมเป็นงาน ๆ เป็นครั้ง ๆ ไป หรือถ้าไม่แน่ใจนัก ควรปรึกษากับเจ้าของงานดูก่อนนะครับว่า สิ่งที่เรากำลังจะทำนั้น สามารถทำได้หรือไม่ เหมาะสมหรือไม่

การเป็นพิธีกรไม่ว่าจะกี่ภาษา สำคัญก็กลับไปเรื่องเดิมครับ คือ ดำเนินการให้งานนั้น ๆ ผ่านไปได้ด้วยดีอย่างราบรื่น แต่หากแม้ว่าเราใช้เพียงภาษาเดียว แต่คนในงานไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง งานก็จะไม่ราบรื่น เช่นกัน หากเราใช้มากกว่า 1 ภาษา แล้วผู้ชมเข้าใจ ผู้ชมฟังแล้วรู้เรื่อง ว่าต่อไปจะเป็นอะไร ให้ทำอะไร ไม่ให้ทำอะไร ก็ถือว่างานสามารถผ่านไปได้ด้วยดีอย่างราบรื่นได้เช่นกัน

ฝึกเยอะ ๆ นะครับ
เพราะทุกความเชี่ยวชาญ มาจากการฝึกฝนครับ

ขอบคุณครับ
มาตูรีดี มะสาแม

 

Author:

สนใจภาษาอังกฤษ การพูด (พิธีกร วิทยากร) ท่องเที่ยว ปัจจุบัน เป็นนักศึกษาทุนปริญญาโท สาขาวิธีวิทยาการวิจัยครับ

Leave a comment